ชื่อสถานที่ : พระธาตุพนม |
---|
พระธาตุพนม ตามตำนานพระธาตุพนม
ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออก โดยทางอากาศ ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา แล้วเสด็จมาที่เวินพระบาทปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน พญาอินทร์ได้เสด็จมาเฝ้า และทูลถามพระพุทธองค์ถึงเหตุที่มาประทับที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่าเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้วมัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระสรีระ แต่ไม่สำเร็จ จนเมื่อพระมหากัสสปะมาถึงได้อธิษฐานว่า พระธาตุองค์ใดที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุนั้นเสด็จมาอยู่บนฝ่ามือ ดังนั้นแล้ว พระอุรังคธาตุก็เสด็จมาอยู่บนฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะ
พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมาทางอากาศ ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุเข้าบรรจุ ณ วัดพระธาตุพนมในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ วัดพระธาตุพนมได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร พระธาตุพนมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ การบูรณะครั้งแรกและครั้งที่สอง ไม่ได้บันทึกปีที่บูรณะไว้ การบูรณะครั้งที่สามเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๕๗
วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๘ น. ด้วยเหตุที่มีฝนตกพายุพัดแรงติดต่อมาหลายวันและความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ พระธาตุพนมจึงได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ ประชาชนทั้งประเทศได้บริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๒ นอกจากจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุดั่งเดิมแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้นบรรจุและประดับไว้ในองค์พระธาตุด้วย โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง ๑๑๐ กิโลกรัม เป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิด ปีวอก และเป็นวัดพระธาตุประจำวันเกิดวันอาทิตย์