ชื่อสถานที่ : พญาศรีสัตตนาคราช |
---|
จากความเชื่อในเรื่อง “พญานาค” สำหรับชาวพุทธแล้วถือเป็นเรื่องที่ถูกเล่าขานกันมานานทั้งในพุทธประวัติก็ดี ตลอดจนเรื่องราวจากบรรดาเกจิอาจารย์หลายรูปก็ดี จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะกล่าวว่า “พญานาค” ถือเป็นส่วนหนึ่งสำหรับชีวิตของคนไทยและอีกหลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้นจากความเชื่อความศรัทธา จากความเชื่อและความศรัทธาของทั้งพี่น้องชาวไทยและชาวลาวเกี่ยวกับองค์พญานาคที่คอยดูแลปกปักษ์รักษาผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขงและองค์พระธาตุพนม กล่าวคือ ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวต่างมี กษัตริย์แห่งนาคราช หรือ นาคาธิบดี แยกปกครองดูแล ฝั่งลาว คือ พญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) ซึ่งเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคฝั่งลาว เป็นพญานาคเจ็ดเศียร ฝั่งไทย คือ พญาศรีสุทโธนาคราช (นาคาธิบดีสีสุทโธ) เป็นกษัตริย์พญานาคฝั่งไทย เป็นพญานาคหนึ่งเศียร พญาศรีสุทโธ ท่านชอบจำศีลบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยนมีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ ชอบมาปฏิบัติธรรมที่พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้เหล่าพญานาค ๖ อำมาตย์ดูแลแทน ในระหว่างที่หลบมาจำศีลภาวนา และทางจังหวัดนครพนม จึงออกแบบและก่อสร้าง “องค์พญาศรีสัตตนาคราช” โดยการวางแผนออกแบบก่อสร้างนานเกือบ ๕ ปี เพื่อเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างสัญลักษณ์เมืองขึ้น และได้ทำการประกอบพิธีอัญเชิญองค์พญาศรีสัตตนาคราชขึ้นประดิษฐาน ท่ามกลางประชาชนชาวไทยและลาว ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง และ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง จังหวัดนครพนม และพระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงมาร่วมในพิธี โดยทางจังหวัดได้ทำพิธีสมโภชใหญ่ พุทธาภิเษก รวม ๙ วัน ๙ คืน ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๘ กันยายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมาถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ จะมีสาวงามจาก ๗ ชนเผ่าของแต่ละอำเภอกว่า ๔๐๐ คนมารำบวงสรวงตลอด ๙ วัน ๙ คืนอีกด้วย ภายใต้ความเชื่อเกี่ยวกับ “องค์พญาศรีสัตตนาคราช” ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของ จังหวัดนครพนม อย่างที่ทราบกันว่าพี่น้องชาวไทยและชาวลาว ล้วนมีความเชื่อผูกพันอยู่กับองค์พญานาค พอๆ กับความผูกพันในลำน้ำโขง รุ่นปู่ย่าล้วนศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพญานาคในฐานะที่เป็นผู้ดูแลปกปักษ์รักษาแถบลุ่มน้ำโขง รักษาพุทธศาสนา รวมถึงองค์ พระธาตุพนม ซึ่งเป็นองค์พญานาคทองเหลืองที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน แน่นอนว่าจากประติมากรรมที่สูงค่าผนวกกับความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราช ย่อมส่งผลให้จังหวัดนครพนม ดินแดนแห่งลุ่มน้ำโขงกลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่สร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจของจังหวัดอย่างไม่อาจปฏิเสธ ณ บริเวณที่ประดิษฐานองค์พญานาค ลานศรีสัตตนาคราช ริมฝั่งแม่น้ำโขงหน้าสำนักงานป่าไม้ ถนนสุนทรวิจิตร ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม ศูนย์กลางท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง องค์พญาศรีสัตตนาคราช หล่อด้วยทองเหลือง มีน้ำหนักรวม ๙,๐๐๐ กก. เป็นรูปพญานาคขดหาง ๗ เศียร ประดิษฐานบนแท่นฐานแปดเหลี่ยม กว้าง ๖ เมตร ความสูงทั้งหมดรวมฐาน ๑๕ เมตร สามารถพ่นน้ำได้ วัตถุประสงค์การก่อสร้างครั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อเกี่ยวต่อเรื่องพญานาคของชาวไทย และชาวลาวที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อีกทั้งยังต้องการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่อีกจุดหนึ่งของภูมิภาคนี้ ซึ่งล่าสุดในการส่งท้ายปี ๒๕๕๙ของ จังหวัดนครพนม สุดคับคั่ง ผู้คนแห่กราบขอพรพญาศรีสัตตนาคราชแน่น นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศพากันหลั่งไหลมาพักผ่อนในวันหยุดยาว ประชาชนในพื้นที่ทำบุญตักบาตรพระ จากนั้นก็ไปกราบไหว้บูชาพญาศรีสัตตนาคราช ขอพรรับโชคกันอย่างคึกคัก และสถานที่แห่งนี้ ยังเป็นการแสดงถึงอำนาจและการกระจายความเจริญรุ่งเรืองไปสู่นานาประเทศ โดยจะตั้งเด่นเป็นสง่าท่ามกลางทิวทัศน์อันงดงามริมแม่น้ำโขง และที่สำคัญองค์พญาศรีสัตตนาคราชองค์นี้ จะไม่มีที่ใดเหมือนเพราะมีสร้อยสังวาล คล้องคอ เหมือนกับลวดลายที่ซุ้มประตูขององค์พระธาตุพนม เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของจังหวัดที่สืบสานต่อเนื่องมายาวนาน