ชื่อสถานที่ : ประวัติผ้ามุกจังหวัดนครพนม

ประวัติผ้ามุกจังหวัดนครพนม

          จังหวัดนครพนม  เป็นจังหวัดที่เก่าแก่จังหวัดหนึ่งในแถบลุ่มแม่น้ำโขง  ในพื้นที่นี้ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก  ด้านศิลปวัฒนธรรม  และหัตถกรรมพื้นบ้านหลายอย่าง  เช่น  การทอผ้า  การจักสาน  เป็นต้น  ประกอบด้วยด้วยจังหวัดนครพนมมีชนเผ่าที่อยู่อาศัยหลายเผ่า  แต่ละเผ่าจะมีเอกลักษณ์ของตนเอง  เช่น  การทอผ้า  ลายของผ้าของชนเผ่าผู้ไทย  ก็จะเป็นลายใหญ่ๆ  ส่วนมากย้อมสีธรรมชาติ  ลายผ้าของชนเผ่าญ้อ  กะเลิง  จะเป็นลายเล็กๆ  เป็นพวงผ้ามัดหมี่นาค  หมี่ข้อ  หมี่ขั้น  ลายโคมห้า  ลายหมากจับเป็นต้น  ผ้ามุกเป็นผ้าชิ้นหนึ่ง  ซึ่งเป็นลายผ้าโบราณของชาวนครพนม  โดยลักษณะของผ้า  จะเป็นลายขวางรอบตัว  ปกติจะเป็นดอกลายสีขาว  ตัวลายจะขึ้นอยู่กับจิตนาการของผู้ทอ  มีดอกเล็ก  ดอกใหญ่คล้ายๆกับมุกที่เป็นเครื่องประดับบางลายก็มีลักษณะคล้ายกับหน้ามุขของโบสถ์วิหาร  ศาลาการเปรียญเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วแล้วก็มีลายเล็กอยู่ตรงกลางผ้า  เป็นผ้าที่สวยงามมากและก็ทำยากเพราะต้องประกอบด้วย  ขั้นตอนการทอหลายอย่าง  การค้นการเก็บลายดอก  ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์จึงจะสามารถทอได้

 

          สมัยก่อนนิยมนำมาเป็นผ้าถุงเย็บตีน  (เชิง)  ไหมเงินใครที่ได้นุ่งผ้าถุงไหมมุกเชิง  ไหมเงิน  ไหมคำ     ก็จะเป็นคนที่มีฐานะพอสมควร  ส่วนที่ฐานะต่ำลงมาก็จะเป็น  ผ้ามุกฝ้าย  ผ้ามุกโบราณนี้เกือบจะหมดไปกับความทรงจำ  ของพี่น้องชาวนครพนแล้ว  แม้แต่ชื่อผ้ามุก  คนยังไม่รู้จัก  เมื่อได้ยินแล้วเกิดความสงสัยในจังหวัดนครพนมดูเหมือน  จะมีหมู่บ้านเดียว  ที่ทำใส่และก็ขายให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านคือ  บ้านกกต้อง  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  คนที่ทอขายก็คือ  นางสุดใจ  อินธิโส  ซึ่งเป็นคนสุดท้ายคนเดียวที่ยังรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้  ซึ่งนางสุดใจก็ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาอันนี้จากคุณแม่ของท่าน

          ผ้ามุกนครพนม  ถือว่าเป็นผ้าโบราณร่วมสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์  ซึ่งเป็นผ้าต้นแบบของ          ผ้าพื้นบ้านทั้งหลาย  ลักษณะพิเศษของผ้า  เป็นผ้าพื้นมีลายดอกเล็กบ้างใหญ่บ้าง  สลับกันไปคล้ายลายประดับมุกโบราณมีหลายสีสลับกันไป  เป็นดอกเล็กๆ  เรียกว่า  มุกสามและก็ใหญ่ขึ้นไป  เป็นมุกสี่  มุกห้า  มุกหก  มุกเจ็ด  เป็นต้น

          สืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้ามุก  โดยพระมหาเพชร  สุวิชาโน  ปัจจุบันเป็นพระราชสิริวัฒน์          เจ้าอาวาสวัดสว่างสุวรรณาราม  รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนมเมื่อ  พ.ศ. ๒๕๓๓  ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสว่างสุวรรณาราม  ซึ่งมีภูมิลำเนาที่อยู่บ้านกกต้อง  อำเภอเมือง  จังหวัดนครพนม  เป็นผ้ามุกนี้มาตั้งแต่ยังเล็กและได้จดจำไว้ตลอด  พอได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้ว  ก็เริ่มได้งานพัฒนาวัด  และเริ่มส่งเสริมอาชีพทอผ้ามุกของชุมชนมาตลอด  ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ยากมาก  เพราะชุมชนคุ้มวัดสว่างสุวรรณารามเป็นชุมชนเมือง  ในเขตเทศบาลไม่ค่อยมีคนที่ทอผ้าเป็น  ที่ทอเป็นก็เลิกทำหมดแล้ว  จึงได้รับบริจาคอุปกรณ์เครื่องทอหูก  (ผ้ามุก)    มีกี่ฟืม  กวัก  เป็นต้น  ได้รับความร่วมมือจากขาวบ้านเป็นอย่างดี  จึงได้ปรึกษากับ  คุณยายสุดใจ  อินธิโส     ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่ทอผ้ามุกอยู่  ขอให้คุณยายสุดใจมาช่วยสอนการทอผ้ามุกโดยใช้ใต้ถุนศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ฝึก  มีชาวบ้านที่สนใจฝึก  ประมาณ  ๑๐  คน  โดยได้รับค่าตอบแทนวิทยากรวันละ  ๑๐๐  (หนึ่งร้อยบาทถ้วน)  ฝึกเป็นเวลา  ๕๘  วัน  โดยใช้ทุนส่วนตัวและทางวัดช่วย  ได้ขอสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่างๆ  จัดเป็นกลุ่มแม่บ้านตั้งศูนย์ทอผ้ามุกวัดสว่างสุวรรณาราม  เมื่อวันที่  ๑  พฤษภาคม  ๒๕๓๖

          ต่อมา  พระมหาเพชร  สุวิชาโน  (พระราชสิริวัฒน์  รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม)  ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธาตุประสิทธิ์  เจ้าคณะอำเภอนาหว้า  ที่อำเภอนาหว้า  จังหวัดนครพนม  ได้นำภูมิปัญญาการทอผ้ามุกไปเผยแพร่ด้วย  และได้จัดตั้งศูนย์ทอผ้ามุกทอผ้าไหม  และหัตถกรรมต่างๆ  ภายในวัดธาตุประสิทธิ์  ประกอบกับประชาชนชาวนาหว้า  เป็นกลุ่มศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ได้ทอผ้าไหมผ้าฝ้ายอยู่ก่อนแล้ว  การส่งเสริมอนุรักษ์เผยแพร่  จึงดำเนินไปด้วยดี  และได้รับการสนับสนุนจาก  ฯพณฯ พลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ  ท่านคุณหญิงพันธ์เครือ  ยงใจยุทธ  และนายนพวัชร  สิงห์ศักดา  นายอำเภอนาหว้า  หน่วยงานราชการอำเภอนาหว้าทุกส่วน  ได้ร่วมสนับสนุนผ้ามุกจึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปต่อมายังได้ยกผ้ามุกเป็นผ้าประจำอำเภอนาหว้า  ในคำขวัญที่ว่า  พระธาตุประสิทธิ์รวมใจ  ผ้ามุกไหมงามตา  อาชีพปริศนา  พัฒนา  หัตถกรรมไทย  และสำคัญที่สุดผ้ามุกนครพนมชิ้นนี้  ก็ได้รับการสืบสานภูมิปัญญาของปู่  ย่า  ตา  ยาย  ไว้จากการทอเป็นมุกฝ้าย  และก็เป็นผ้ามุกไหม  ซึ่งสวยงามมาก็ได้รับความสำเร็จเป็นผ้ามุกไหมที่วัดธาตุประสิทธิ์    อำเภอนาหว้า  กลุ่มแม่บ้านอำเภอต่างๆ ที่สนใจก็ได้มาฝึกหัดที่วัดสว่างสุวรรณารามบ้าง  ที่วัดธาตุประสิทธิ์นาหว้า  แล้วก็นำไปเผยแพร่ต่อไป  เป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว  และชุมชุนเป็นอย่างดี  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผ้ามุกนครพนมผืนนี้  คงจะเป็นสมบัติของชาวนครพนมสืบต่อไป

          ผ้าทอมือแห่งภูมิปัญญาของปู่  ย่า  ตา  ยาย  ผืนนี้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครพนมได้ทำนำทูลเกล้าฯ  ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จแปรพระราชฐาน  ณ  พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์

 

          ปี  พ.ศ. ๒๕๔๔  ทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติ  ผ้าไหมลายมุกพื้นสีฟ้า ดอกสีขาว ความยาว  ๔๙  เมตร

          ปี  พ.ศ. ๒๕๔๕  ทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติ  ผ้าไหมลายมุกพื้นสีฟ้า  ดอกสีเหลือง  ความยาว  ๕๐  เมตร  ทอเป็น  ๕  สีๆละ  ๑๐  เมตร  มีสีฟ้า  สีม่วง  สีน้ำเงิน  สีแพง  สีเขียว

          ปี  พ.ศ. ๒๕๔๗  ทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติ  “ผ้าไทย  มรดกแม่ของแผ่นดิน  ๗๒  พรรษา  มหาราชินี”  ผ้าไหมลายมุก  พื้นสีแดง  ดอกสีเหลือง  ความยาว  ๑๐  เมตร  เพื่อนำไปถักทอร้อยต่อกับอีก  ๗๕  จังหวัดของไทย  ได้นำความภาคภูมิใจมาสู่กลุ่มทอผ้าวัดสว่างสุวรรณารามและกลุ่มทอผ้าวัดธาตุประสิทธิ์  อำเภอนาหว้า  ที่ช่วยกันถักทอ


. 1548332541 เข้าชม : 2,930 ครั้ง | ส่งข่าวนี้ไปที่
สถานที่อื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ชนเผ่าไทกวน 

โพตเมื่อ 1548333780
( เข้าชม : 2,613 ครั้ง )


ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม 

โพตเมื่อ 1548333714
( เข้าชม : 2,375 ครั้ง )


ชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดนครพนม

โพตเมื่อ 1548333572
( เข้าชม : 2,875 ครั้ง )


ชนเผ่าไทยอีสาน (ลาว)

โพตเมื่อ 1548333498
( เข้าชม : 2,596 ครั้ง )


ไทยข่า

โพตเมื่อ 1548333415
( เข้าชม : 2,202 ครั้ง )


เผ่าไทยโส้หรือไทยกะโซ่ 

โพตเมื่อ 1548333318
( เข้าชม : 2,190 ครั้ง )


เผ่าไทแสก 

โพตเมื่อ 1548333182
( เข้าชม : 2,019 ครั้ง )


เผ่าไทยกะเลิง

โพตเมื่อ 1548333079
( เข้าชม : 2,371 ครั้ง )


ชนเผ่าผู้ไทย  

โพตเมื่อ 1548332900
( เข้าชม : 2,135 ครั้ง )


ชนเผ่าไทยญ้อ (ญ้อ)

โพตเมื่อ 1548332800
( เข้าชม : 2,305 ครั้ง )